ที่มาของชื่อ “DIB”

ครั้งแรก ผมคิดคำนี้เพื่อใช้เป็นยี่ห้อของสมุดทำมือ สมุดทำมือที่ผมทำขาย เป็นสมุดที่พยายามจะใช้วัสดุคุณภาพดี กระดาษหนา สามารถใช้วาดรูปและเขียนหนังสือด้วยปากกาหมึกซึมได้ กระดาษบางเล่ม ใช้กระดาษสำหรับวาดภาพสีน้ำ เพื่อต้องการให้เป็นสมุดที่ไม่ได้เน้นราคาถูก แต่เน้นการใช้งานที่ดีจริงๆ และมีลักษณะเฉพาะตัว ปกสมุด ทำด้วยหนังแท้ ที่พยายามเลือกซื้อทุกผืนด้วยการนึกภาพเมื่อมันอยู่บนปกสมุด หนังที่ใช้ จะเลือกหนังที่มีร่องรอย (หากมันไม่มี ก็สร้างมันขึ้นมา!) เพื่อให้เข้ากับชื่อ “ดิบ” ของมัน
“ดิบ” ถ้าเป็นความหมายของภาพถ่าย จะหมายถึงไฟล์ภาพแบบ “Raw File” ซึ่งเป็นไฟล์ภาพรูปแบบเริ่มต้นของการโปรเสสภาพ มีขนาดไฟล์ที่ใหญ่ เพราะเก็บทุกรายละเอียดเท่าที่กล้องตัวนั้นจะสามารถเก็บได้ เพื่อการนำไปพัฒนาต่อ จนออกมาเป็นไฟล์ภาพที่ถูกตกแต่ง ปรับปรุงแล้ว ต่อไป เมื่อผมคิดนำชื่อนี้มาใช้กับงานออกแบบกราฟิก ผมจึงนำมารวมกับคำพื้นๆ อย่างคำว่า “Design” เพื่อบอกแนวทางของหน่วยงานนี้ ว่าเป็นหน่วยงานที่ทำอะไร เหตุผลที่นำคำว่า “Design” มาใช้ เพราะต้องการนำตัวอักษร “D (e)” มาใช้ เพื่อให้ได้ออกมาเป็นคำว่า “ดิบดี” ดังนั้น จึงตัดตัวอักษร ”e” ทิ้งไป เพื่อให้กลายเป็นชื่อเฉพาะ ที่ไม่จำเป็นต้องมีความหมาย แต่เมื่อตัดตัวอักษรออกไป 1 ตัว คำที่เหลือ จึงเป็น “D และ sign”
การรวมตัวของตัวอักษร 3 ตัว คือ “D”, “I”, “B” ในลักษณะของตัวพิมพ์เล็ก ตัวอักษรซ้ายขวามีรูปฟอร์มเดียวกัน และสลับข้าง จึงนำมารวมกันเป็นลักษณะภาพคล้ายปุ่มกดเปิดของเครื่องคอมพิวเตอร์






หลายครั้งที่ผมออกไปนำเสนองานออกแบบให้กับลูกค้า ถ้าผลงานชิ้นไหน ผมทุ่มกับมันมาเต็มที่ ใช้และให้เวลากับมันมากพอ ผมจะมีข้อมูลของการออกแบบชิ้นงานนั้นๆ อยู่เต็มหัว และสามารถพุดได้น้ำไหลไฟดับกับงานชิ้นนั้น แต่หากมีมันไม่มากพอ บางครั้งก็ทำให้ผมพูดไม่ออกได้เหมือนกัน ดังนั้น แม้ไม่บ่อยที่ผมจะได้ไปนำเสนองาน ผมจะพยายามใช้เวลากับงานนั้นๆ อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ออกมาเป็นงานที่ดีที่สุด เข้าใจมันได้มากที่สุด และใช้ศักยภาพที่มีในการทำได้ดีที่สุด นี่จึงเป็นความหมายของคำว่า “ดิบ” ในมุมของผม ไม่ว่ามันจะเป็นงานออกแบบ หรือจะเป็นสมุดทำมือซักเล่ม ปกหนังเท่ห์ๆ ดิบๆ พร้อมสายรัด รอให้คุณแกะมันออกมา และเปิดใช้มัน
ลองเปิดมันสิครับ