จะทำสิ่งพิมพ์ คุณต้องรู้อะไรบ้าง
จบปัญหาของการทำงานออกแบบ กับเรื่องที่นักออกแบบงานกราฟิก กับลูกค้า มีอะไรที่ต้องรับรู้และเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อที่จะทำงานร่วมกันได้ มาตามอ่านกันครับ
จากการไปแฝงตัวตามเพจ Graphic Design, เพจ Freelance หลายที่ รวมทั้งการทำงานในสายงานนี้มานาน ผมพบว่า หลายครั้งที่ความเข้าใจเรื่องการใช้ไฟล์ระหว่างนักออกแบบและลูกค้า มักมีความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่ บางครั้งก็ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกันได้ง่าย เพราะการรับออกแบบงานกราฟิกสิ่งพิมพ์ มีทั้งที่นักออกแบบมีภาพและกราฟิกของตัวเอง ตรงนี้ นักออกแบบคงเข้าใจดีว่า ต้องใช้วัตถุดิบในลักษณะไหน แต่มีไม่น้อย ที่ลูกค้าต้องมีวัตถุดิบของตัวเอง เช่น ภาพสินค้า ภาพโลโก้ ข้อความ หรือสีที่ต้องการ ซึ่งตรงนี้แหละครับ ที่บ่อยครั้งที่ลูกค้ามักไม่เข้าใจว่า จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นได้บ้าง
ภาพตัวอย่างด้านล่าง เป็นเพียงบางส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น มีโอกาส ผมจะทยอยทำเพิ่มมาเรื่อยๆ ให้ครับ เอาไว้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างนักออกแบบและลูกค้า ลูกค้าเซฟเก็บไว้ก็ได้ นักออกแบบแชร์ให้ลูกค้าไว้ก็ดี (ถ้านักออกแบบเอาไปใช้ ให้เครดิตกันด้วยก็ดีครับ อย่าเอาแค่รูปของผมไปแปะโลโก้ของตัวเอง ผมขอล่ะ)
งานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโลโก้, ออกแบบแผ่นพับ ,ออกแบบโบรชัวร์, ออกแบบใบปลิว, ออกแบบโฆษณา, ออกแบบแพคเกจสินค้า ฉลากสินค้า หรืองานออกแบบอื่นๆ ในสายงานสื่อสิ่งพิมพ์ องค์ประกอบหลักที่จะใช้ในชิ้นงาน จะมีอะไรบ้าง
- โลโก้
- รูปภาพ
- ข้อความ
- ภาพสินค้า
- กราฟิก สีสัน
บางครั้ง ลูกค้าไม่มีไฟล์โลโก้ มีแต่สิ่งพิมพ์เก่าที่มีโลโก้ หรือกระทั่งมีแค่นามบัตรใบเดียวก็เคยครับ สิ่งที่นักออกแบบต้องทำ คือการดราฟโลโก้ขึ้นมาใหม่ พยายามหาค่าสีโดยอาจเทียบสีจากแพนโทนสี หรือวัดด้วยสายตาเอาตามประสบการณ์ ถ้าหนักกว่านั้น คือลูกค้าถ่ายรูปโลโก้จากงานสิ่งพิมพ์ใดๆ และส่งมาให้ผ่านโทรศัพท์มือถือมาให้แกะแบบ บางครั้งโลโก้ก็เป็นภาพแนวเอียงมาก็มี แต่ที่สำคัญคือความเพี้ยนของสีครับ เพราะกล้องแต่ละตัว มักให้ค่าสีไม่ตรงกันกับต้นฉบับ หรือบางครั้ง ลูกค้ามองผ่านมือถือของตัวเองก็ว่าสีสวยแล้ว แต่เมื่อส่งไปเข้ามือถือของนักออกแบบก็กลายเป็นคนละสีกันก็มี เมื่ออกมาเป็นงานพิมพ์ ก็ยิ่งเพี้ยนไปกันใหญ่ก็เคยเห็นกัน เราจึงต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนครับ ว่าถ้าหากเราไม่มีสื่อใดๆ ที่จะบอกได้อย่างถูกต้องจริงๆ เราก็แทบจะคาดหวังไม่ได้เอาเลยว่าจะได้สีที่ตรงกันครับ
ส่วนของรูปภาพ สิ่งนี้ก็สำคัญครับ ภาพถ่าย 1 ภาพ มีขอบเขตอะไรบ้างในการนำไปใช้
- ขนาดของภาพ บางครั้ง การส่งภาพทางไลน์ แมสเซนเจอร์ ภาพอาจถูกลดขนาดลงได้ หรือการดึงภาพจากเวปที่รู้สึกว่ามันน่าจะใหญ่พอ ก็อาจสร้างปัญหาได้ เพราะการแสดงผลผ่านเวป ใช้ความละเอียดเพียง 72dpi ขณะที่งานสิ่งพิมพ์ ใช้ความละเอียดประมาณ 300dpi ที่ขนาดเท่ากัน ดังนั้น ภาพที่จะนำไปใช้ในการทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ จึงต้องมีขนาดที่ใหญ่กว่าหลายเท่า ดังนั้น หากมีภาพต้นฉบับที่ใหญ่มากๆ ก็ยิ่งดีครับ ส่งเมล์ให้นักออกแบบแทนการส่งในไลน์ก็ได้ ถ้ามันขนาดใหญ่เกินไป
- การส่งไฟล์ภาพ โดยวิธีใส่ไฟล์รวมกันมาในเวิร์ด บางครั้งก็อาจนำไปใช้ได้ครับ แต่มักมีที่ใช้ไม่ได้เสียมากกว่า ดังนั้น ความใช้วิธีแยกส่งเมลล์ด้วยขนาดจริงจะดีกว่ามากครับ สะดวกกว่าด้วย
- คุณภาพของภาพ บางครั้ง ภาพที่เซฟเป็น Jpeg มา มักถูกบีบอัดมาสูง โดยเฉพาะภาพที่ถูกนำไปลงเวป เพื่อทำให้โหลดภาพได้ไวขึ้น หากลูกค้ามีไฟล์ภาพที่จำเป็น แนะนำให้เก็บต้นฉบับขนาดใหญ่ไว้ครับ เพื่อจะได้ภาพที่คุณภาพสูงสุดสำหรับการใช้งาน
- การนำไฟล์ภาพความละเอียดต่ำ (เช่น ไฟล์ภาพในเวป) มาใส่ความละเอียดเพิ่มเข้าไปทีหลัง ไม่ช่วยให้คุณภาพไฟล์ดีขึ้นครับ ถ้าจำเป็น บางครั้งอาจต้องถ่ายใหม่ หรือโหลดภาพมาใหม่ เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพที่ใหญ่พอใช้งานได้







ตัวอย่างด้านบน เป็นเพียงบางส่วนของความเข้าใจที่ไม่ตรงกันครับ ยังมีอีกหลายเครื่องและหลายหัวข้อ ไว้ผมจะทยอยนำมาเขียนไว้ครับ