จบปัญหา! เรื่องที่มักเข้าใจไม่ตรงกัน ระหว่างลูกค้าและนักออกแบบ
เมื่อคุณอ่านบทความนี้ คุณจะได้รู้ขนาดการใช้งาน เมื่อเทียบกับขนาดพิกเซลของภาพ สำหรับส่งไฟล์ภาพ การนำภาพไปประกอบในอาร์ตเวิร์คงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อจบปัญหาเรื่องขนาดไฟล์งานที่ไม่ตรงกับการใช้งาน จนทำให้ไฟล์ภาพที่ต้องการนั้น ไม่สามารถใช้งานได้ คุณจะรู้ว่า ไฟล์ภาพจากที่ส่งให้นักออกแบบนั้น มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ทั้งนักออกแบบมือใหม่ หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการทำงานกราฟิก ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ โดยใช้รูปภาพมาเป็นส่วนประกอบ

ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่มีระหว่างลูกค้าเจ้าของภาพ และนักออกแบบมาแสนนานแล้วครับ เพราะความเข้าใจที่แตกต่างกันของแต่ละคนโดยอาศัยประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกันไป
เรามาดูสื่อหลักๆ ที่เป็นเครื่องมือแสดงภาพกันก่อนนะครับ

- การมองภาพผ่านจอภาพ ทั้งจอทีวี จอคอมพิวเตอร์ หรือจอสมาร์ทโฟน
จอภาพเหล่านี้ ใช้ความละเอียดตามสายตามอง หรือประมาณ 72 dpi ในขนาดจริง ไม่จำเป็นต้องละเอียดเพิ่มไปกว่านั้น เพราะจะบังคับการแสดงผลไม่เกินนั้นอยู่แล้ว การมีความละเอียดที่สูงไปกว่านั้น ก็อาจจะทำให้ขนาดไฟล์ใหญ่เกินความจำเป็น และการโหลดเพื่อแสดงผลอาจช้าลงได้ ดังนั้น คุณสามารถกำหนดขนาดได้ง่ายๆ ตามพื้นที่แสดงผล และกำหนดความละเอียดได้ที่ 72 dpi ก็เพียงพอ เช่น การออกแบบเวปไซต์ ที่ต้องการความเร็วในการโหลด

- การพิมพ์ภาพผ่านระบบงานพิมพ์อิงค์เจ็ทและพิมพ์ดิจิตอล
การพิมพ์ภาพผ่านเครื่องพิมพ์ระบบอิงค์เจ็ท โดยมาก นักออกแบบมักเข้าใจคล้ายกับการพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ต จึงมักทำไฟล์งานที่ขนาดจริง ความละเอียดที่ 300 dpi มา ความจริง หากไม่เกินกำลังเครื่องคอมนัก ก็ทำแบบนั้นก็ได้ครับ แต่หากไม่เห็นความจำเป็น คุณสามารถทำงานที่ขนาดจริง แต่ลดความละเอียดลงมาที่ 120 – 150 dpi ก็เพียงพอแล้ว สำหรับงานอิงค์เจ็ท และอาจเพิ่มความละเอียดไปอีกเล็กน้อย หากเป็นงานพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์ดิจิตอล อาจใช้ที่ 150 – 200 dpi ก็เพียงพอครับ ที่ขนาดจริง
แต่ที่ว่ามา เป็นเพียงความละเอียดสำหรับงานพิมพ์อิงค์เจ็ทสำหรับมองไกล้ๆ เท่านั้น เช่น งานรูปถ่ายติดผนัง การพิมพ์ใส่กรอบรูป ที่คนมักยืนมองไกล้ๆ ห่างประมาณ 1 – 2 เมตร จึงควรทำงานที่ความละเอียดที่ว่ามา แต่หากงานพิมพ์นั้น เป็นงานพิมพ์ที่ใช้การมองระยะไกล เช่น ป้ายโฆษณา Billboard ก็ยิ่งไม่ต้องใช้ความละเอียดที่อ้างอิงขนาดจริงก็ได้ครับ เพราะจะกลายเป็นไฟล์งานที่ใหญ่มาก เช่น หากคุณต้องการทำ Billboard ที่ขนาด 30 x 10 เมตร ต่อให้คุณกำหนดขนาดงานที่เท่านั้นได้ในเครื่องคอมพิมพ์เตอร์ของคุณ แต่เครื่องคุณก็ไม่สามารถทำงานที่ขนาดไฟล์ใหญ่นั้นได้โดยสะดวกหรอกครับ เราจึงจำเป็นต้องย่อสเกลงานลงมา ให้ขนาดงานเมื่อทำใน Photoshop อยู่ที่ Image Size ไม่เกิน 100-200 MB ก็เพียงพอแล้ว โดยความละเอียด (dpi) จะผันผวนตามขนาด Image Size ที่ต้องการได้ครับ เพราะแม้พิมพ์ภาพออกไปแล้วแตก เพราะใช้ความละเอียดของไฟล์ภาพแค่ 45 dpi (สมมุตินะครับ) แต่เมื่อมองจากระยะไกล ก็จะไม่เห็นว่าภาพแตกครับ
อ้อ แล้วอย่าไปสับสนกับ dpi ในการพิมพ์งานนะครับ เช่น เครื่องอิงค์เจ็ทบางรุ่นที่โฆษณาว่าสามารถพิมพ์งานได้ที่ 9600 dpi ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องทำไฟล์งานที่ 9600 dpi ไปด้วย มันคนละอัน คนละส่วนกันครับ
- การพิมพ์ภาพผ่านงานพิมพ์ระบบออฟเซ็ต (งานสิ่งพิมพ์ทั่วไป เช่น หนังสือ, นิตยสาร, โปสเตอร์, แผ่นพับใดๆ)
งานพิมพ์ระบบออฟเซ็ท คือระบบงานพิมพ์สำหรับงานสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน โดยภาพที่ได้ จะเป็นภาพที่ดูด้วยตาเปล่าแล้วจะไม่เห็นจุด รอยต่อใด ไม่ต่างกันกับที่เราดูผ่านหน้าจอคอมพิมเตอร์ แต่ความต้องการในการแสดงผลต่างกันครับ
การส่งไฟล์ภาพดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ ใช้ความละเอียดที่ 72 dpi และโหมดสี RGB คือโหมดสีของแสง ที่ดูผ่านจอที่ใช้การส่งสีออกมาเป็นแสง รวมกันให้เราเห็นในสายตา (โหมดสีนี้ เป็นโหมดสีเริ่มต้นของไฟล์หลายประเภท เช่น ภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล (ซึ่งเรามักดูผ่านจอก่อน) ดังนั้น เมื่อเราต้องการนำไฟล์ภาพดิจิตอลนั้น ไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์ เราจึงควรต้องแปลงโหมดสีให้เป็น CMYK ก่อน เพื่อการรองรับงานพิมพ์ 4 สีแบบออฟเซ็ทครับ
การพิมพ์งานระบบออฟเซ็ท ไฟล์งานควรต้องใช้ขนาดจริง และความละเอียดที่ 300 dpi ครับ เพราะวิธีแสดงผลไม่เหมือนกับดูผ่านจอ ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องที่ลูกค้ามักเข้าใจผิดเสมอ เพราะ (สมมุติ) เขาดูภาพผ่านจอคอม ก็เห็นคมชัดดี แต่เมื่อเซฟภาพนั้นส่งให้นักออกแบบ มักถูกขอให้ส่งไฟล์ภาพที่ใหญ่กว่านั้นมาให้เสมอ
ตามที่บอกครับ การแสดงผลของจอภาพที่ 72 dpi และการแสดงผลผ่านสิ่งพิมพ์ที่ 300 dpi มันต่างกันได้อย่างขัดเจนครับ เดี๋ยวผมจะเปรียบเทียบขนาดของภาพ ที่ 10 ซม x 10 ซม ให้ดูครับ
จอ 10 ซม x 10 ซม ที่ 72 dpi = 234.6kb
สิ่งพิมพ์ 10 ซม x 10 ซม ที่ 300 dpi = 3.99mb (rgb) และ 5.32mb (cmyk)
จะเห็นได้ว่า Image Size ของภาพที่ขนาด 10 x 10 ซม เท่ากัน แต่ขนาดกลับต่างกันถึง 17 เท่า



- การพิมพ์ภาพผ่านสิ่งพิมพ์ที่ใช้ความละเอียดต่ำ เช่น หนังสือพิมพ์, กระดาษลัง
กระดาษที่มีเนื้อผิวหยาบ ยุ่ย จะมีการดูดซับของหมึกสูง ดังนั้น หากพิมพ์ความละเอียดสูงปกติลงบนกระดาษประเภทนี้ อาจทำให้หมึกไม่แห้ง หมึกกองรวมกัน และเลอะเทอะได้ง่าย จึงมักใช้ความละเอียดที่ต่ำลง เช่น 120 – 150 dpi ตามความจำเป็นในการใช้งานครับ
ผมมีวิธีคำนวนขนาดแสดงผลของภาพจากกล้องดิจิตอลให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ สมมุติว่าเป็นกล้องความละเอียดที่ 6 ล้านพิกเซล (สมมุติที่ขนาดเล็กหน่อย จะเห็นภาพได้ง่ายครับ) หรือขนาดพิกเซลคือ 2816 x 2112 พิกเซล ที่ 72 dpi
ถ้าคุณนำภาพนั้นไปดูในจอทีวีขนาด 50 นิ้ว FullHD (1920 x 1080 พิกเซล) คุณจะสามารถดูภาพได้อย่างคมชัดแบบเหลือๆ
แต่ถ้าคุณนำภาพนั้นมาปรับเป็น 120 dpi เพื่อพิมพ์ภาพผ่านเครื่องอิงค์เจ็ท คุณจะได้ภาพที่ขนาด 23.5 x 17.6 นิ้ว
และหากคุณนำภาพนั้นมาสร้างงานพิมพ์ออฟเซ็ทที่ 300 dpi คุณจะได้ขนาดภาพที่ 9.3 x 7 นิ้ว เท่านั้น
นั่นคือตัวอย่างว่าทำไมคุณดูภาพถ่ายในจอ FullHD ที่บ้านได้ใหญ่เกือบครึ่งฝาบ้าน แต่พอนำมาใช้ในงานสิ่งพิมพ์ ทำไมมันถึงใช้ได้เล็กนัก ไม่เต็มกระดาษ A4 ด้วยซ้ำ
ทีนี้ คุณอาจต้องกลับไปสำรวจภาพถ่ายที่คุณใช้เป็น souce เอาไว้ในโอกาสต่างๆ แล้วว่า มันเพียงพอต่อการใช้งานอะไรได้บ้าง
ความจริง มันมีเทคนิคลักไก่ได้อยู่ระดับนึงครับ ที่ใช้ได้ในบางโอกาส (แต่ไม่ใช่ทุกโอกาส) คือ การเพิ่มความละเอียดให้ภาพทีหลัง
สมมุติ เรานำภาพจากกล้อง 6 ล้านพิกเซล (2816 x 2112 พิกเซล = 9.3 x 7 นิ้ว) มาใช้เป็นขนาด A4 (11.7 x 8.3) จะเห็นว่า ขนาดต้นฉบับ มีขนาดเล็กกว่า A4 เล็กน้อย ซึ่งความจริง ก็สามารถใช้ได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มความละเอียดอีกก็ได้ แต่ถ้าต้องการ เมื่อเทียบ 2 ขนาด จะเห็นได้ว่า ไม่ต่างกันมาก ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มความละเอียดเข้าไปได้ครับ โดยกำหนดขนาด Image Size ให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อยได้เลย เพื่อให้พอดีที่ A4 โดยคุณภาพไฟล์ภาพนั้นจะไม่เสียหายมากจนเห็นได้ชัด
แต่หากไฟล์ต้นฉบับ มีขนาดเล็กมากๆ เช่น ไปดึงมาจากเวปไซต์ ที่ขนาด 600 x 400 พิกเซล ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่า จะเห็นว่าภาพก็สวยความชัดดีอยู่ แต่หากลองเทียบกับภาพถ่ายขนาด 6 ล้านพิกเซล คือ 2816 x 2112 พิกเซล จะเห็นได้ว่า ขนาดต่างกันหลายเท่าตัว ซึ่งหากขนาดมีความแตกต่างกันมากขนาดนี้ และไฟล์ต้นฉบับ มีขนาดเล็กขนาดนี้ หากมาเพิ่มความละเอียดเข้าไปทีหลัง แบบนี้ ยังไงภาพก็แตกครับ และตามตัวอย่างนี้ ถือว่าแตกเละเทะได้เลยทีเดียว ดังนั้น ความใช้ภาพที่เล็กไม่ต่ำกว่าครึ่งของขนาดที่ต้องการจะดีที่สุดครับ
ผมทำเทียบขนาดให้ดูคร่าวๆ ว่า ภาพจากกล้องดิจิตอล หรือภาพที่มีขนาดพิกเซลไกล้เคียงกับตัวอย่างจะให้ขนาดภาพที่ขนาดไหนในงานสิ่งพิมพ์ไว้ดูกันนะครับ
1 ล้านพิกเซล (1280 x 720) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 4.2 x 2.4 นิ้ว
2 ล้านพิกเซล (1600 x 1200) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 5.3 x 4 นิ้ว
3 ล้านพิกเซล (2048 x 1536) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 6.8 x 5.1 นิ้ว
4 ล้านพิกเซล (2272 x 1704) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 7.5 x 5.7 นิ้ว
5 ล้านพิกเซล (2560 x 1920) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 8.5 x 6.4 นิ้ว
6 ล้านพิกเซล (2816 x 2112) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 9.4 x 7 นิ้ว
7 ล้านพิกเซล (3072 x 2304) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 10.2 x 7.7 นิ้ว
8 ล้านพิกเซล (3264 x 2448) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 10.8 x 8.1 นิ้ว
9 ล้านพิกเซล (3840 x 2400) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 12.8 x 8 นิ้ว
12 ล้านพิกเซล (4256 x 2832) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 14.1 x 9.4 นิ้ว
14 ล้านพิกเซล (4288 x 3216) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 14.3 x 10.7 นิ้ว
18 ล้านพิกเซล (4896 x 3672) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 16.3 x 12.2 นิ้ว
24 ล้านพิกเซล (6000 x 4000) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 20 x 13.3 นิ้ว
50 ล้านพิกเซล (8688 x 5792) ใช้งานที่ 300 dpi ได้ขนาด 28.9 x 19.3 นิ้ว
ดังนั้น หากต้องการทราบว่า ไฟล์ภาพของคุณนั้น เพียงพอต่อการใช้งานได้หรือไม่ ลองเทียบกับสเกลนี้คร่าวๆ ได้ครับ


หากมีข้อสงสัย ยินดีให้คำปรึกษาครับ
facebook : https://www.facebook.com/we.are.the.choice.you.can.choose/
Tel | 0814961751
Line | 0814961751
Messenger | m.me/we.are.the.choice.you.can.choose
Email | dibdsign@gmail.com